03 สิงหาคม 2551

TOWS แหล่งกำเนิดกลยุทธ์

วันก่อนผมได้มีโอกาสเจอะเจอเพื่อนฝูงเก่าๆ ซึ่งเป็นพรรคพวกกัน ได้นั่งทานข้าวด้วยกันและคุยกันสารพัดเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง หุ้น หรือเรื่องแบบไร้สาระ เฮฮาตามประสาคนที่ไม่ได้เจอะเจอกันมาตั้งนาน หนึ่งในหัวข้อที่พูดคุยและหลายๆ คนในวันนั้น ได้ถามผมบนโต๊ะอาหาร คือ “เราจะมีวิธีการคิด หรือ จะมีวิธีสรรสร้างกลยุทธ์ที่ดีให้กับองค์กรของเราได้อย่างไร” ผมนั่งฟังแล้วคิดสักครู่หนึ่ง แล้วจึงตอบไปว่า ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า คำว่า “กลยุทธ์ หรือ Strategy” นั้นจริงแล้วๆ คืออะไร คำว่า “Strategy” นั้น หากไปเปิดหาในพจนานุกรมบางเล่ม จะพบว่า แปลว่า “กลยุทธ์, ยุทธศาสตร์” ถ้าเป็นอย่างนั้น คำว่า “กลยุทธ์” และ “ยุทธศาสตร์” ก็เหมือนกัน เพราะมาจากคำว่า “Strategy” คำเดียวกัน จริงหรือไม่ เท่าที่ผมสังเกตุดู จากการใช้คำสองคำนี้ ในลักษณะที่ “ชูนำขึ้นมาเป็นภาพใหญ่แสดงทิศทางขององค์กรหรือเรือธงประจำองค์กร” นั้นในบ้านเรา พบว่า ถ้าเป็นหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรพิเศษที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ส่วนใหญ่มักจะนิยมใช้คำว่า “ยุทธศาสตร์” เช่น ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย ยุทธศาสตร์ของกระทรวงพาณิชย์ หรือยุทธศาสตร์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นต้น ในขณะที่องค์กรภาคเอกชน ส่วนใหญ่มักนิยมใช้คำว่า “กลยุทธ์” เช่น กลยุทธ์ธุรกิจของบริษัท ซี.พี.เซเว่น อีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ กลยุทธ์การบริการลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น เราไม่ค่อยจะได้ยินคำว่า “ยุทธศาสตร์การพัฒนาของโรงแรมไฮแอทเอราวัณ หรือ ยุทธศาสตร์การขยายสาขาของร้านก๋วยเตี๋ยวไก่แม่ศรีเรือน”

ดังนั้น ผมอาจจะขอสรุปคร่าวๆ ณ ที่นี้ อีกครั้งว่า คำว่า “ยุทธศาสตร์” นั้น เรามักพบมากในภาครัฐและภาครัฐวิสาหกิจ ในขณะที่คำว่า “กลยุทธ์” มักพบมากในภาคเอกชน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ภาครัฐจะไม่มีการใช้คำว่า “กลยุทธ์” หรือ ภาคเอกชน จะไม่มีการใช้คำว่า “ยุทธศาสตร์” อย่างสิ้นเชิง ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมก็ตรงเป็นไม้บรรทัดเกินไป คือ มีใช้เหมือนกันครับ แต่ไม่มากครับ ไม่ถึงกับขึ้นชูนำเด่นเป็นเรือธงประจำองค์กร อะไรทำนองนั้น แต่ไม่ว่าจะเป็น “กลยุทธ์” หรือ “ยุทธศาสตร์” ก็ตาม มันก็คือ คำว่า “Strategy” เหมือนกัน และผมก็คิดต่อไปว่า คำว่า “Strategy" นั้น ไม่ได้มีความหมายอะไรที่น่าตื่นเต้นไปกว่า คำว่า “วิธีการ (Means)” ที่เราจะนำมาใช้เพื่อให้บรรลุ “เป้าหมาย (Goal)” ที่วางกันไว้หรือที่ตั้งใจกันเอาไว้ เท่านั้นเองครับ แต่อย่าลืมนะครับ “เป้าหมายที่ดี” เราควรต้องกำหนดให้เป็น “ตัวเลข” เท่านั้น เพราะจะช่วยให้เราสามารถติดตามผลงานได้ง่ายนั่นเอง

ที่นี้ เมื่อเรากำหนด “Goal” แล้ว เช่น ต้องการเพิ่มยอดขายร้อยละ 10 หรือ ต้องการลดต้นทุนการผลิตลงร้อยละ 5 หรือ ต้องการขยายเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าของเราให้ได้ 3,000 สาขาภายในสิ้นปี สาขาภายในสิ้นปี 2550 นี้ เป็นต้น ขั้นต่อไปคือ เราจะหา “กลยุทธ์” อะไร หรือจะหา “วิธีการ” อะไร มาจัดการเพื่อให้ “เป้าหมาย” ของเราบรรลุได้สำเร็จภายในเวลาที่ต้องการ อันนี้น่าคิดมากนะครับ.....เป็นเรื่องที่ผมว่า “ละเอียดอ่อน” มากครับ เหมือนกับเวลาที่เราเล่น “หมากรุก (Chess)” เราจะต้องมีการ “คิดล่วงหน้า” จะต้องมีการ “วางแผนล่วงหน้า” ไปหลายๆ ตาที่จะเดิน ไม่งั้นมีหวัง “เดี้ยง” โดนสอย “ขุน” เอาง่ายๆ ใช่ไหมครับ
เรื่องการสร้างกลยุทธ์ มีวิธีอย่างนี้ครับ เราต้องเริ่มที่การทำ SWOT Analysis ก่อน คือ เราต้องหาให้ได้ก่อนว่า องค์กรของเรานั้น มี “จุดแข็ง (Strength)” “จุดอ่อน (Weakness)” “โอกาส (Opportunity)” และ “อุปสรรค (Threat)” อะไรบ้าง เขียนออกมาเป็นข้อๆ เลยครับ จะทำในรูปเฉพาะกลุ่มผู้บริหารระดับสูงภายในองค์กร หรือจะจัดเป็นสัมนาเชิงปฎิบัติการนอกสถานที่แบบชนิด 2 วัน 1 คืน ก็ได้ ข้อควรระวัง คือ อย่าเอา “อุปสรรค” มาเป็น “จุดอ่อน” หรือ อย่าเอา “โอกาส” มาเป็น “จุดแข็ง” ก็แล้วกัน เพราะตรงนี้ ผมเห็น “เผลอทำผิด” กันมาแยะแล้วครับ

จากนั้น ทำแบบนี้ครับ ตรงนี้ เราเรียกว่า TOWS Metrix ครับ

กำหนดสร้าง “SO Strategy” โดยพิจารณาว่า เราจะสร้างกลยุทธ์นี้ จาก “จุดแข็ง” และ “โอกาส” ที่มีอยู่ได้อย่างไร โดยอาจกำหนดขึ้นมา 3-5 กลยุทธ์ก็ได้ แล้วตั้งชื่อใหม่ให้แก่ลยุทธ์แต่ละอัน
กำหนดสร้าง “ST Strategy” โดยพิจารณาว่า เราจะสร้างกลยุทธ์นี้ จาก “จุดแข็ง” และ “อุปสรรค” ที่มีอยู่ได้อย่างไร โดยอาจกำหนดขึ้นมา 3-5 กลยุทธ์ก็ได้ แล้วตั้งชื่อใหม่ให้แก่กลยุทธ์แต่ละอัน
กำหนดสร้าง “WO Strategy” โดยพิจารณาว่า เราจะสร้างกลยุทธ์นี้ จาก “จุดอ่อน” และ “โอกาส” ที่มีอยู่ได้อย่างไร โดยอาจกำหนดขึ้นมา 3-5 กลยุทธ์ก็ได้ แล้วตั้งชื่อใหม่ให้แก่กลยุทธ์แต่ละอัน
กำหนดสร้าง “WT Strategy” โดยพิจารณาว่า เราจะสร้างกลยุทธ์นี้ จาก “จุดอ่อน” และ “อุปสรรค” ที่มีอยู่ได้อย่างไร โดยอาจกำหนดขึ้นมา 3-5 กลยุทธ์ก็ได้ แล้วตั้งชื่อใหม่ให้แก่กลยุทธ์แต่ละอัน ตัวอย่างเช่น องค์กรของเรามี “จุดอ่อน” คือ เป็นเจ้าของรถพิคอัพบรรทุกสินค้าที่เก่าแล้วจำนวนมาก ต้องมีค่าซ่อมบำรุงมาก มีค่าน้ำมันมาก ในขณะที่ มี “อุปสรรค” คือ ราคาน้ำมันแพงสูงขึ้นตลอดเวลา ดังนั้น “WT Strategy” ของเรา อาจจะเป็น “Outsourcing Strategy” โดยขายทิ้งรถออกไปจำนวนหนึ่งหรือทั้งหมด เพื่อลดค่าใช้จ่ายและลดผลกระทบจากราคาน้ำมัน แล้วหันมาใช้วิธีจ้างแบบ “ Outsourcing” แทนก็ได้ เป็นต้น
ผมขอยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวนะครับ เพราะเนื้อที่หมดแล้ว แต่ไม่ยากครับ ผู้ประกอบการ SME ทั้งหลายจะลองทำดู ก็ได้เลยนะครับ.......
____________________________________________

ไม่มีความคิดเห็น: