03 สิงหาคม 2551

ESC Gap Analysis (1)

มีเถ้าแก่รุ่นใหม่ไฟแรงจำนวนไม่น้อย ที่พยายามทุ่มเม็ดเงินจำนวนมากเพื่อพัฒนาองค์กรตนเองในทุกๆด้าน ที่พึงจะกระทำได้ เพื่อให้องค์กรของตนเองให้เป็นองค์กรที่สมบูรณ์แบบที่สุดและสามารถยืนผงาดอยู่แถวหน้าได้อย่างสง่างาม แต่ในขณะเดียวกัน มีเถ้าแก่อีกไม่น้อยเช่นกัน ที่มีความเชื่อว่า วิธีการบริหารที่ตนเองกระทำอยู่ทุกวันในองค์กรของตนนั้นดีเลิศอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม ดังนั้น จึงไม่ต้องทุ่มเทเม็ดเงินมากมายเพื่อพัฒนาให้มากนัก
ตรงนี้ ใครคิดผิด? คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า วิธีการบริหารจัดการของเราในวันนี้ดีที่สุดแล้วและไม่จำเป็นต้องทุ่มเม็ดเงินเพิ่ม หรือว่ายังจะต้องมีการทุ่มเม็ดเงินใส่เพื่อการพัฒนาอีก
สมมุติว่า องค์กรแห่งหนึ่งมีวิธีการบริหารจัดการหรือมีระบบงานต่างๆ ของทุกฝ่ายในองค์กรเหมาะสมดีอยู่แล้ว แต่เรายังคงมุ่งหน้าพัฒนาองค์กรโดยใส่เม็ดเงินเข้าไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดยั้ง ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร แน่นอนครับ องค์กรเราจะเผชิญกับภาวะที่เรียกว่า “มีการลงทุนมากเกินความจำเป็น(Overinvestment)” เช่น เราอาจจะเร่งสร้างศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center-DC) หลายๆแห่ง สั่งซื้อรถยนต์บรรทุกจำนวนมาก จ้างพนักงานขายเพิ่ม ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์หรือซอฟล์แวร์ พร้อมๆ กันอย่างมโหฬาร เป็นต้น สุดท้ายคือ ธุรกิจเราอาจจะไม่ถึงกับขาดทุนเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายการลงทุนเพิ่ม แต่ก็จะได้กำไรสุทธิน้อยกว่าคู่แข่งอย่างแน่นอน
อีกกรณีหนึ่ง สมมุติว่า เราคิดเป็นตรงกันข้ามกับกรณีแรก คือเราคิดว่า องค์เราดีอยู่แล้ว เก่งอยู่แล้ว สมบูรณ์แบบที่สุดอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่ต้องลงทุนใส่เม็ดเงินเพื่อการพัฒนาอะไร อันนี้ ผลลัพธ์ก็น่ากลัวอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน เพราะในโลกความเป็นจริง ขีดความสามารถทางการแข่งขันของเรา อาจจะต่ำกว่าคู่แข่งเป็นอย่างมากก็ได้
แล้วที่นี้ จะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนี้องค์กรเราอยู่ตรงไหน? เรากำลัง “ลงทุนพัฒนาตนเองมากไป” หรือ “ลงทุนพัฒนาตนเองน้อยไป”
ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจก่อนว่า ธุรกิจแต่ละประเภทนั้น มี “ระดับความรุนแรงทางการแข่งขัน” ที่แตกต่างกัน ธุรกิจบางประเภทมีระดับความรุนแรงทางการแข่งขันกันที่สูงมาก ไม่ว่าจากคู่แข่งภายในประเทศหรือต่างประเทศ ในขณะที่ธุรกิจบางประเภทมีระดับความรุนแรงทางการแข่งขันที่น้อยมาก แต่บางธุรกิจก็มีระดับความรุนแรงทางการแข่งขันในระดับปานกลาง เรียกว่า แต่ละธุรกิจจะมี “สภาพแวดล้อมทางการแข่งขัน (Environment)” ที่รุนแรงไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกันและไม่ใช่ระดับเดียวกัน
ดังนั้น เราต้องวิเคราะห์ให้ได้ก่อนว่า ธุรกิจของเรานั้น มีความรุนแรงทางการแข่งขันที่รุนแรงในระดับ มาก ปานกลาง หรือว่าแค่ เล็กน้อย เป็นสิ่งแรก
เพราะอะไร? เพราะถ้าองค์กรเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันปานกลาง แต่เราไปลงทุนจ้างคน สั่งซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ ซอลฟ์แวร์ รถบรรทุก หรือขยายเครือข่าย เหมือนกับองค์กรที่เขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันรุนแรง อันนี้แน่นอนว่า องค์กรเราเกิดภาวะ “Overinvestment” ขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเมื่อ ค่าใช้จ่ายเพิ่ม กำไรก็ลด
ที่นี้ หากองค์กรเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันปานกลาง แต่องค์กรเรากลับลงทุนพัฒนาในเรื่องระบบต่างๆ ด้วยงบประมาณเท่าๆ กับองค์กรที่เขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันต่ำ ผลคือ ศักยภาพองค์กรเรา จะไม่สามารถเทียบเคียงกับคู่แข่งทั้งหลายของเราที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันปานกลางได้เลย
ทั้งนี้เนื่องจาก “กลยุทธ์ (Strategy)” ต่างๆ ที่เราใช้ และ “ขีดความสามารถขององค์กร (Organization Capabilities) ซึ่งหมายถึง โครงสร้างองค์กร (Structure) ระบบงาน (System) และบุคลากร (People)” ของเรา ไม่ตรง ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับ “ระดับสภาพแวดล้อมทางการแข่งขัน (Environment)” ที่องค์กรเราตั้งมั่นอยู่
ซึ่งภาษานักกลยุทธ์ เขาเรียกว่า องค์กรไม่ตั้งอยู่ใน “ภาวะดุลยภาพ (Equilibrium)” นั่นเอง ซึ่งผลตอบแทนต่างๆ ไม่ว่า ROI, ROE, หรือ ROA จะอยู่ในระดับต่ำมาก
แล้วควรจะทำอย่างไรที่จะทำให้องค์กรอยู่ในภาวะดุลยภาพทางการแข่งขันได้...เราจะมาว่ากันต่อในคราวหน้าครับ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ได้ความรู้เยอะเลยค่ะ(Y-MBA12)