03 สิงหาคม 2551

จุดคุ้มทุน (1)

วันก่อนผมได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการ SME เล็กกลุ่มหนึ่งที่จังหวัดอยุธยา ต้องเรียกว่า เป็นกลุ่มผู้ประกอบการ “ระดับรากหญ้า” เลยก็ว่าได้ ต้องเดินทางเข้าไปในชุมชนหรือหมู่บ้านที่ลึกจากถนนใหญ่พอสมควร
สินค้าที่ชาวบ้านเขาทำกัน ก็มีหลายอย่าง เช่น น้ำยาจากปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำส้มควันไม้ (Wood Vinegar) น้ำยาอเนกประสงค์ น้ำยาล้างจาน ถ่านสำหรับหุงต้มอาหาร ผักชะอม เป็นต้น
สินค้าเหล่านี้ สามารถจะทำขึ้นเพื่อใช้เองในครัวเรือนหรือเพื่อจำหน่ายแก่ผู้สนใจก็ได้ ตามแต่ความต้องการของชุมชนหรือครัวเรือนนั้นๆ โดยสินค้าส่วนใหญ่มักจะผลิตขึ้นจากวัตถุดิบที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในละแวกนั้นๆ ผสมผสานเข้ากับความรู้ความชำนาญที่ชาวบ้านมีอยู่ แต่ถ้าหากความรู้ความชำนาญใดยังมีไม่ครบถ้วนหรือไม่มี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิต การตลาด หรือหีบห่อบรรจุภัณฑ์ ก็จะมีหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่จาก ธกส. เข้าไปร่วมสนับสนุนหรือเสริมสร้างให้เข้มแข็งขึ้นภายใต้นโยบายของรัฐบาล
การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SME เหล่านี้ หากเราค่อยๆ พิจารณาในวงที่กว้างขึ้นในระดับอำเภอ ในระดับจังหวัด และในระดับประเทศ เราจะพบว่า ขณะนี้มีสินค้าที่ผลิตออกมาขายเป็นจำนวนมาก หลากหลายชนิด ตั้งแต่สินค้าเกษตรเช่น ปุ๋ยหมัก ผักและผลไม้สด สินค้าเกษตรแปรรูปเช่น ทุเรียนอบแห้ง ผลไม้แช่อิ่ม สินค้าหัตถกรรมเช่น ผ้าไหม เครื่องจักรสาน เครื่องประดับต่างๆ ไปจนถึงสินค้าอุตสาหกรรมเบาเช่น ถ้วยชามเซรามิค เฟอร์นิเจอร์ ถุงมือยาง แชมพูสมุนไพรต่างๆ โดยการที่จะเลือกผลิตสินค้าใดนั้น ส่วนใหญ่มักจะขึ้นกับแหล่งวัตถุดิบและแรงงานที่หาได้ง่าย
หลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสนั่งคุยกับผู้ประกอบการ SME หลายๆ ระดับตั้งแต่ผู้ประกอบการระดับ “รากหญ้า” ไปจนถึงผู้ประกอบการระดับ “สินทรัพย์รวมประมาณ 200 ล้านบาท” ผมพบว่า มีผู้ประกอบการจำนวนมิใช่น้อย ที่ดำเนินธุรกิจโดยไม่ทราบว่า “จุดคุ้มทุน (Break Even Point)” ตนเอง เท่ากับเท่าไหร่ หรืออยู่ที่ไหน
ตรงนี้....ผมคิดว่า “อันตราย” นะครับ
“จุดคุ้มทุน” นั้น ช่วยให้เราทราบว่า เราจะต้องขายสินค้าให้ได้ “กี่ชิ้น” จึงจะคุ้มกับ “ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายทั้งหมด” หรือหากจะมองในอีกมิติหนึ่ง ก็คือ เราจะต้องขายให้ได้ “กี่บาท” จึงจะคุ้มกับ “ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายทั้งหมด” ก็ได้ หลักการมีง่ายๆ แค่นี้
ทีนี้ ถ้าเราไม่มีความรู้เรื่อง “จุดคุ้มทุน” เลย คือ เราจะผลิตไปเรื่อยๆ ขายไปเรื่อยๆ ขายไม่หมดหรือพอหมดอายุก็ทิ้ง แล้วผลิตใหม่เพื่อขายอีก ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ผลิตสินค้าออกมาขายได้สักพัก ลูกค้าไม่ชอบรสชาด ต้องเปลี่ยนวัตถุดิบหรือส่วนผสมใหม่เกือบทั้งหมด แล้วผลิตต่อ ผมว่าอย่างนี้ ยิ่งไม่รู้เรื่องเข้าไปใหญ่เลยครับว่า “จุดคุ้มทุน” จะเท่ากับเท่าไหร่และจะต้องขาย “กี่ชิ้น” กันแน่
ทีนี้ หากเราต้องการจะทราบว่า “จุดคุ้มทุน” เขาคิดกันอย่างไร
ไม่ยากครับ ประการแรก ท่านต้องทราบก่อนว่า “ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายคงที่ทั้งหมด” ของท่านมีเท่าไหร่ ซึ่งคำว่า “ต้นทุนคงที่” นี้ ผมหมายความว่า ท่านจะผลิตสินค้าหรือไม่ผลิต ท่านก็ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายนี้อยู่แล้ว ประการที่สอง คือ “ราคาขายต่อหน่วย” เท่ากับเท่าไหร่ และประการสุดท้าย คือ “ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายผันแปรต่อหน่วย” เท่ากับเท่าไหร่ ซึ่งคำว่า “ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย” นี้ ผมหมายถึง ค่าใช้จ่ายใดๆ ที่ท่านผลิตมาก ท่านจะเสียมาก ท่านผลิตน้อย จะเสียน้อย หรือถ้าไม่ผลิตเลย จะไม่เสีย โดยท่านต้องนำมาหารกับจำนวนการผลิตทั้งหมดที่ได้วางแผนการผลิตไว้
และเมื่อท่านทราบ “ตัวเลขทั้งสามตัว” ข้างต้นนี้แล้ว ท่านก็เพียงแต่นำ “ต้นทุนคงที่” ไปหารด้วยผลต่างระหว่าง “ราคาขายต่อหน่วย” กับ “ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย”
เพียงเท่านี้ ท่านก็จะทราบแล้วว่า ท่านมี “จุดคุ้มทุน” เท่ากับ “กี่ชิ้น” หรือพูดอีกอย่างคือ ต้องขายให้ได้เท่าไหร่ จึงจะ “คุ้มทุน” อะไรแบบนี้ครับ
อ้อ.. วิธีคิดแบบนี้ จะใช้ได้เฉพาะกรณีที่ท่านผลิตสินค้าเพียง “หนึ่งชนิด” และมี “หนึ่งขนาดบรรจุ” เท่านั้นนะครับ ถ้ามีหลายชนิดหรือมีชนิดเดียวแต่มีหลายขนาด ท่านต้องคิดอีกวิธีครับ ใช้วิธีเดียวกันไม่ได้ ตัวเลขจะผิดทันทีครับ ตรงนี้เข้าใจผิดกันเยอะมาก ฉบับหน้าจะเล่าให้ฟังครับ

ไม่มีความคิดเห็น: