03 สิงหาคม 2551

EVA..วัดฝีมือผู้บริหารแท้จริง

หลายปีที่ผ่านมา นักธุรกิจหลายท่าน เริ่มมีความสงสัยและไม่แน่ใจว่า “กิจการที่ตนเองเป็นเจ้าของนั้น มีผลกำไรจริงหรือไม่ ตัวเลขกำไรสุทธิที่เห็นจากงบกำไรขาดทุนประจำปี ที่ผู้บริหารภายในองค์กรนำมาเสนอและเล่าสรุปให้ฟังนั้น เป็นกำไรจริงๆ เท่ากับตัวเลขที่เขาเล่าสรุปให้ฟังหรือเปล่า”
ทำไม…นักธุรกิจหลายองค์กรเริ่มมีความคิดอย่างนี้ ก็เพราะว่าพวกเขาเป็นคนลงทุนสร้างองค์กร สร้างบริษัทขึ้นมา เป็นคนที่วิ่งหาเงินทุนใส่ลงไป ไม่ว่าเงินทุนนั้นจะมาจากเงินของตนเองทั้งหมดหรือผสมกับเงินกู้ธนาคารบางส่วนก็ตาม เป็นคนหาที่ดิน หาตึก หาออฟฟิศ หาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หาอุปกรณ์สำนักงาน หาเครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่าง หาพนักงานมาทำงาน และอาจมีส่วนที่จะต้องหา “งาน” ป้อนเข้าสู่องค์กรให้อีกด้วย ดังนั้น หากองค์กรมีตัวเลขกำไรสุทธิประจำปี เท่ากับ 1 ล้านบาท คำถามคือ “จริงๆ แล้ว เขามีกำไรเท่ากับ 1 ล้านบาท จริงหรือไม่” เรื่องนี้น่าคิด น่าสนใจ และน่าหาคำตอบมาก ใช่ไหมครับท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากท่านเป็นนักธุรกิจหรือเป็นผู้ประกอบการด้วยแล้ว ยิ่งต้องการจะรู้เรื่องนี้เข้าไปใหญ่
มีวิธีการอะไรไหม ที่จะช่วยพวกเขา นอกจากจะไปนั่งคร่ำเคร่งพิจารณาตัวเลขที่มาจาก “อัตราส่วนทางการเงินทั้งหลาย” ที่บรรดาผู้จัดการฝ่ายบัญชีหรือผู้จัดการฝ่ายการเงิน ชอบนำมาเล่าให้ฟัง เช่น ROI, ROE, ROA, Gross Profit Margin, Net Profit Margin, หรือ EBITDA on Assets อะไรทำนองนี้ ตัวเลขพวกนี้ไม่ได้ ช่วย“สื่อ”อะไรมากนักหรอกครับ เนื่องจากเขานำตัวเลขต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในงบการเงิน มาคำนวณให้ดู แค่นั้นเอง บอกได้อย่างมากก็ “ตอนนี้ไข้ขึ้นหรือยัง” แต่บอกไม่ได้ว่า “ตอนนี้ตายหรือยัง”
แล้วอะไรเล่า ที่จะช่วยให้ทราบข้อมูลในเชิงลึกให้มากขึ้น คือ ไม่เอาแค่ “ปรอทวัดไข้” มีครับ วิธีการตัวนี้ เรียกว่า..“EVM (Economic Value Management)” หรือ “ระบบการบริหารจัดการที่เน้นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์” ให้แก่องค์กร ผมถือว่าวิธีนี้ป็น “วิธีที่จะชี้วัดฝีมือผู้บริหารองค์กรอย่างแท้จริง” ครับ
เพราะอะไร ก็เพราะ EVM เป็นระบบการบริหารจัดการองค์กร ที่มีแนวคิดที่นำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมด ขอเน้นคำว่า “ทรัพยากรทั้งหมด” นะครับ มานั่งคิดคำนวณค้นหา “ผลกำไรที่แท้จริง” ขององค์กร เรียกว่า จะไม่ดูเพียงแค่ “กำไรสุทธิจากงบการเงิน (Net Profit)” แต่เขาต้องการจะดูมากกว่านั้น ดังนั้น ตัวเลขที่ออกมา จึงเรียกชื่อเสียใหม่โก้ๆ ว่า “กำไรเชิงเศรษฐศาสตร์ (Economic Profit-EP)” บางคนก็เรียกว่า “มูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐศาสตร์ (Economic Value Added-EVA)” อันนี้เหมือนกัน จะเรียกอะไรก็ได้ ไม่มีใครว่า
แนวคิดนี้ ถ้ายังไม่คุ้นเคย อาจจะฟังดูน่าปวดหัว แลดูเป็นวิชาการ เข้าใจยาก ไกลตัวและเหมาะกับ “มนุษย์ใส่แว่นหนาๆ หน้าตาเพี้ยนๆ” เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ไม่มีอะไรยุ่งยากเลย นักธุรกิจทั่วๆ ไป ก็สามารถเข้าใจได้อย่างไม่ยากเย็นครับ
คิดง่ายๆ อย่างนี้ครับ ถ้าต้องการจะรู้ว่า องค์กรของท่านมี “ผลกำไรเชิงเศรษฐศาตร์ หรือ EP” เท่ากับเท่าไร ท่านก็แค่เอา “กำไรสุทธิ ที่หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ หักภาษี หักดอกเบี้ย จนหมดแล้ว” มาหักลบกับ “ต้นทุนเฉลี่ยของเงินลงทุนทั้งหมด ที่คูณกับ มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด” แค่นี้เองครับ “กำไรสุทธิ” ตัวแรกนั้น มีปรากฎอยู่แล้วในบรรทัดสุดท้ายของงบกำไรขาดทุนของท่าน ส่วน “ต้นทุนเฉลี่ยของเงินทุนทั้งหมดของท่าน” คิดจาก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของท่าน รวมกับ อัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ท่านคาดว่าจะได้รับจากองค์กร และสำหรับมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด นั้นคิดจาก ทรัพย์สินทั้งหมดที่ท่าน “ใส่” ลงไปในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่จับต้องได้เช่น สิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์ต่างๆ หรือ ทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ เช่น ค่า goodwill เป็นต้น ก็ตาม
ไม่ยากใช่ไหมครับ แต่ถ้าต้องการจะเขียนเป็น “อักขระยันต์” ให้แลดูขลังๆ แบบ “ชาวบ้านอ่านไม่ค่อยจะรู้เรื่อง” ก็เขียนได้ว่า…

EP = NOPAT – (WACC*Invested Capital)

คำอธิบายแบบง่ายๆ อยู่ข้างบนนะครับ
ที่นี้ ถ้าท่านสนใจจะนำระบบ EVM เข้ามาใช้ภายในองค์กรท่าน ท่านต้องทำอะไรบ้างใช่ใหมครับ ทำอย่างนี้ครับ
1. ตั้ง “ทีม EVM” ขึ้นมาเป็นผู้รับผิดชอบ และจัดตั้ง “ศูนย์ EVM (EVM Centre)” อาจแยกตาม Business Units หรือ แยกตาม Functions ก็ได้
2. คำนวนหาค่า Transfer Pricing ระหว่าง ศูนย์ EVM
3. ปรับปรุงรายการต่างๆ ในงบการเงินประมาณ 12 รายการหรืออาจมากกว่า เพื่อให้งบการเงินมีความเหมาะสมในการคำนวณหาค่า EP ทั้งในระดับ ศูนย์ EVM และระดับองค์กรทั้งหมด
4. จัดทำ Operational Driver Tree Diagram เพื่อประกอบการตัดสินใจในการบริหารงานภายใต้ระบบ EVM
5. อาจเชื่อมโยงระบบ EVM ของท่านที่ทำเสร็จแล้ว เข้ากับระบบ TQM ระบบ Balanced Scorecard หรือระบบ KPI ต่างๆ ของท่านก็ได้

เพียงเท่านี้เอง ท่านก็จะรู้แล้วว่า ที่เขามารายงานท่านว่า “ปีนี้ บริษัทของเรา มีผลกำไรสุทธิทั้งสิ้น เท่ากับ 1 ล้านบาทนั้น” จริงๆ แล้ว ท่านอาจจะมีตัวเลขกำไรเพียง 2 แสนบาทเท่านั้น หรือ อาจจะขาดทุนก็ได้ นะครับ…โชคดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น: