จากคราวที่แล้ว ท่านผู้อ่านที่เป็นเถ้าแก่ทั้งหลายคงจะเห็นแล้วว่า การลงทุนนั้น แม้จะเป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาองค์กรของตนเองก็ตาม ถ้า “มากเกินไปก็ไม่ดี” และ “น้อยเกินไปก็ไม่ดี” คือ “มันต้องพอดีๆ” ครับ
บางท่านคงจะสงสัยว่า “ที่ว่า พอดีๆ นั้น หมายถึงว่า พอดีกับอะไร” ผมหมายถึงว่า “การลงทุนพัฒนาองค์กรของเรานั้น ควรจะต้องมีระดับความพอดีกับระดับความรุนแรงของการแข่งขันในธุรกิจของเรา”อันนี้แปลว่า ถ้าธุรกิจของเรา มีคู่แข่งมากมาย เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สินค้าทดแทนก็มีเยอะ อีกทั้งการหาความแตกต่างกับสินค้าอื่นๆ ก็ทำได้ยาก ผมว่า ถ้าขืนเป็นแบบนี้ คงจะต้องทุ่มเท “งบพัฒนาองค์กร” อย่างมโหราฬ เพื่อให้องค์กรของเราสามารถยืนหยัดและต่อสู้กับคู่แข่งต่างๆ ได้ในระยะยาว และที่สำคัญคือ ต้องสามารถสร้างความแตกต่าง จากคู่แข่งจนสามารถเข้าไปนั่งอยู่กลางใจลูกค้าได้ แต่ถ้าธุรกิจของเรา เติบโตแบบ “ไปเรื่อยๆ” แบบว่า คู่แข่งก็หาทำยายาก สินค้าทดแทนก็ไม่ค่อยมี เทคโนโลยีก็เสมือนราวสมัยยุคหินเก่า แบบนี้นะครับ ทุ่มเงินพัฒนาเข้าไป ผมว่า ก็ “สูญเปล่าและเหนื่อยฟรี”
“หัวใจ” ของเรื่องนี้ คือ เราต้องเอา “สภาพแวดล้อมทางการแข่งขันของธุรกิจ” เป็นตัวตั้ง เราต้องหามาก่อนให้ได้ว่า มีความรุนแรงระดับไหน ผมหมายความว่า มีความรุนแรงมากถึงระดับ 5 หรือ มีความรุนแรงน้อยมาก เพียงระดับ 1 เท่านั้น เป็นต้น
จากนั้นจึงค่อยมาพิจารณาว่า “กลยุทธ์ต่างๆ ที่เรากำลังใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น” อยู่ในระดับไหน ระดับซับซ้อนที่ 5 หรือเป็นระดับซ้ำซ้อนง่ายๆ เพียงแค่ระดับ 3 ทำนองเดียวกัน เพื่อให้งานต่างๆ ออกมามีความครบถ้วนมากที่สุด และมีความพอดีมากที่สุด เราจำเป็นต้องพิจารณาในเรื่อง “โครงสร้างองค์กร ระบบงานต่างๆ และผู้ร่วมงานทุกระดับชั้น” โดยพิจารณาเป็นระดับที่ 5 หรือระดับที่ 3 เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น
ทีนี้ตอนนำไปประยุกต์ใช้........ยุ่งยากหรือไม่
คำตอบคือ ง่ายมากครับ และที่สำคัญประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มันก็มากกว่าความพยายามที่เรา “ใส่” เข้าไป อย่างเห็นได้ชัด
สมมุติว่า “ความรุนแรงทางการแข่งขันของสภาพแวดล้อมของเรา” อยู่ในระดับที่ 4 แต่ “กลยุทธ์ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน” อยู่ในระดับที่ 3 ในขณะที่ “โครงสร้างองค์กร ระบบงานต่างๆ และผู้ร่วมงานทุกระดับชั้น” อยู่ในระดับที่ 2
ท่านเห็นเลยใช่ไหมครับว่า องค์กรแห่งนี้มี “Gap” ที่สำคัญเกิดขึ้นเสียแล้ว
Gap แรก เราเรียกว่า Strategy Gap วัดค่าได้โดยเอา 4 ลบ 3 จะได้เท่ากับ 1 ในขณะที่ Gap ที่สอง เราเรียกว่า Capability Gap วัดค่าได้โดยเอา 4 ลบ 2 จะได้เท่ากับ 2 วัดกันง่ายๆ แบบนี้เลยล่ะครับ มีคนเคยทำวิจัยเรื่องนี้ในหลายประเทศ พบว่า องค์กรที่มีค่า Gap เกิน 2 มักเป็นองค์กรที่ล้มละลายหรือใกล้ๆ จะล้มละลายแล้ว วิธีน่าสนใจใช่ใหมครับท่านผู้อ่าน คนที่คิดเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นคนแรกคือ Igor H. Ansoff และเขาได้ขนานนามวิธีการคิดแบบนี้ว่า “Environment-Strategy-Capability Gap Analysis” หรือแปลไทยแบบสวยๆ ได้ว่า “โมเดลการวัดดุลยภาพในด้าน สภาพแวดล้อม กลยุทธ์ และขีดความสามารถองค์กร” เรียกว่า ต้องให้ “เครดิต” ผู้ที่เขาอุตส่าห์คิดขึ้นมาเสียหน่อย ข้อคิดก็คือ ถ้ามี Gap ให้ปิด Gap เสียให้หมด และเมื่อเราปิด Gap หมดแล้ว ก็แสดงว่า เราไม่ควรจะลงทุนหรือเทงบพัฒนาองค์กรในด้านใดๆ เพิ่มขึ้นอีกจนกว่าเราจะพบว่า มี Gap เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะอะไร? ก็เพราะองค์กรเราอยู่ในภาวะ “ดุลยภาพ” แล้วไงครับ ถือได้ว่า “เยี่ยมยอด” แล้วเรา “ต้องจ่ายอีกทำไม” ใช่ไหมครับท่าน......
03 สิงหาคม 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น