03 สิงหาคม 2551

จุดคุ้มทุน (2)

ฉบับที่แล้ว ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน คงจะได้เห็นภาพกันชัดเจนมากขึ้นแล้วนะครับว่า เรื่อง “จุดคุ้มทุน” (Break-Even-Point) นั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะทำให้เราทราบว่า เราจะต้องขายสินค้าให้ได้ “กี่ชิ้น” จึงจะคุ้มค่ากับจำนวนเงินทุนที่เรา “ทุ่มใส่เข้าไป หรือไปกู้ยืมมา” เพื่อนำมาลงทุนในธุรกิจของเรา
ทีนี่ อย่างนี้ครับ เถ้าแก่บางท่านคิดไปไกลกว่าแค่คำว่า “จะขายเท่าไหร่ จึงจะถึงจุดคุ้มทุน” คือ เขาคิดไปถึงขนาดว่า “นอกจากจะต้องขายให้ได้เท่ากับจุดคุ้มทุนแล้ว เขายังต้องการจะได้กำไรขั้นต่ำอย่างน้อยเท่ากับ เท่านั้นเท่านี้บาท อีกด้วย”
ตรงนี้ ถ้าเถ้าแก่สั่งมา เราจะมีวิธีการคิดอย่างไร
เรื่องนี้ สามารถทำได้ไม่ยากครับ
ก็เพียงนำ “ต้นทุนคงที่ทั้งหมด” บวกด้วย “จำนวนกำไรขั้นต่ำที่ต้องการ” ได้ออกมาเท่าไหร่ ให้กำหนดเอาไว้เป็น “ตัวตั้ง”
จากนั้น ก็นำไปหารด้วย “ผลต่างระหว่าง ราคาขายต่อหน่วย กับ ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย” เพียงเท่านี้ ท่านก็จะได้ผลลัพธ์ของ “จุดคุ้มทุน” ที่ได้รวมเอา “จำนวนกำไรขั้นต่ำที่ต้องการ” เอาไว้เรียบร้อยแล้ว เรียกว่า ต้องถูกใจเถ้าแก่เป็นอย่างมาก เพราะได้ถึง 2 เด้งเลยทีเดียว
หลักการคิดตรงนี้ สามารถใช้ได้ทั้งกรณีสินค้าหรือบริการ เพียงแต่ว่า กิจการของท่านต้องเป็นกิจการที่ผลิตหรือขาย สินค้าหรือบริการ เพียงชนิดเดียว หรือเพียงขนาดเดียว หรือเพียงรุ่นเดียว เท่านั้น
เพื่อนผมคนหนึ่ง ถามผมเรื่องนี้ว่า ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายของกิจการเขาในบางรายการ เป็นทั้งค่าใช้จ่ายคงที่และค่าใช้จ่ายผันแปร เรียกว่ารวมกันในตัวออกมาเป็น “รายการเดียว” เสร็จเรียบร้อย เช่น ค่าโทรศัพท์ จะมีค่าใช้จ่ายคงที่ต่อเดือนที่เรียกว่า “ค่าธรรมเนียมรายเดือน” และมีจะค่าใช้จ่ายผันแปรที่เรียกว่า “ค่า Air Time” ตรงนี้จะทำอย่างไร
ผมตอบเขาไปว่า เรื่องนี้ไม่ยากครับ ค่าใช้จ่ายตัวไหนที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ก็ขอให้ “แยกออกมา” ให้หมด และจากนั้นให้นับรวมเข้าไปอยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน ซึ่งในที่นี้ก็คือ “ค่าใช้จ่ายคงที่รวม” นั่นเอง ส่วนค่า “Air Time” นั้น ก็ให้คิดทำนองคล้ายๆ กัน คือ ให้แยกออกมา และนำไปรวมในหมวดค่าใช้จ่ายผันแปรรวม เท่านี้เอง
แต่ถ้าที่นี้ ค่าใช้จ่ายบางตัวมีลักษณะเป็น “ต้นทุนร่วม (Common Costs)” แยกกันไม่ออก คือไม่สามารถแยกค่าใช้จ่ายส่วนคงที่และส่วนผันแปร ออกจากกันได้อย่างเด็ดขาดและชัดเจน แล้วละก้อ คงจะต้องใช้วิธีการกะประมาณออกมาเป็นเปอร์เซนต์เข้ามาช่วย ซึ่งเราก็จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ไปได้พอสมควร แต่อย่าลืมว่า ถ้ากะเปอร์เซนต์ผิดๆ ถูกๆ เนื่องจากไม่มีความชำนาญก็มีสิทธิ์ที่ “ตัวเลขผลลัพธ์สุดท้ายจะเพี้ยน” ไปได้ไม่น้อย
ขอวกกลับมายังประเด็นแรกอีกครั้ง ถ้าเถ้าแก่ของเราหรือกิจการของเรา ขายสินค้าหรือให้บริการ “มากกว่าหนึ่งชนิด หรือมากกว่าหนึ่งขนาด หรือมากกว่าหนึ่งรุ่น” อันนี้เราต้องปรับสูตรหรือวิธีคิดในเรื่อง “จุดคุ้มทุน” กันใหม่
กล่าวคือ ส่วนของ “ตัวตั้ง” ที่เป็น “ค่าใช้จ่ายคงที่รวม” ก็คงไว้ตามเดิม แต่ส่วนของ “ตัวหาร” นั้น จะต้องมีการปรับแต่งจาก “ผลต่างระหว่าง ราคาขายต่อหน่วย กับ ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย” มาเป็น “ผลต่างระหว่าง ราคาขายต่อหน่วย กับ ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย ที่ต้องเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก” ด้วยสินค้าหรือบริการทุกชนิด ทุกรุ่น ทุกขนาด เรียบร้อยแล้ว เพียงเท่านั้น ผมเชื่อว่า ท่านก็สามารถจะเข้าใจและสามารถนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี

ไม่มีความคิดเห็น: