เมื่อกล่าวถึง MBA ผมว่าเป็น หลักสูตรการเรียนด้านบริหารธุรกิจระดับปริญญาโท ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปี โดยยังไม่มีวี่แววว่าจะเสื่อมคลาย เรียกว่า เศรษฐกิจจะรุ่งเรืองหรือเศรษฐกิจจะถดถอยก็ตาม ผมก็ไม่เคยเห็นว่า ยอดผู้สมัครหรือผู้เรียน MBA ในแต่ละปีจะลดต่ำลงแต่อย่างใด ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาแพทยศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ สาขานิติศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์ สาขาศึกษาศาสตร์ หรือสาขาใดๆ ที่ไม่ใช่สาขาบริหารธุรกิจ ต่างก็หันมาสมัครเรียน MBA กันอย่างมากมายเพิ่มขึ้นทุกปี เท่าที่เคยสอบถามดู ส่วนใหญ่มักจะตอบว่า พอทำงานมาถึงระยะเวลาหนึ่งหรือทำงานจนตำแหน่งสูงขึ้นระดับหนึ่งแล้ว มีความรู้สึกว่า ตนเองยังขาดความรู้อะไรบางอย่างหรือหลายอย่างในด้านบริหารธุรกิจ แถมบางคนบอกว่า ตนเองมีลูกน้องจบ MBA กันหลายคน มีความรู้สึกว่า เริ่มจะฟังลูกน้องคุยไม่รู้เรื่องซะแล้ว เผลอๆไม่รู้อีกหน่อย ใครจะเป็นลูกน้องใครจะเป็นเจ้านายกันแน่
ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับว่า ระหว่างผู้ที่จบปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจมาโดยตรง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้จบสาขานี้โดยตรงมา อย่างดังเช่นตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว ท่านว่า ใครน่าจะได้ประโยชน์มากกว่ากันเมื่อทั้งคู่ต่างเข้ามาเรียน MBA ในห้องเรียนเดียวกัน คำตอบก็คือ ผู้ที่ไม่ได้จบปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจ จะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็น Value Added ให้กับชีวิตของตนเอง แต่ผู้ที่จบสายตรงด้านบริหารธุรกิจมา ถ้าจะถามว่า ไม่ได้ประโยชน์เลยหรือ ความจริงก็ไม่ถึงกับอย่างนั้น เรียกว่า “ได้เหมือนกัน แต่ผมรับรองว่า ได้ไม่เท่าเขา” เพราะอะไรหรือ ก็เพราะว่า หลายๆ เรื่องที่สอนกันอยู่ในชั้นเรียนนั้น พวกที่จบสายตรงมา ต่างก็ร่ำเรียนหลักการหรือทฤษฎีกันมาแทบจะหมดแล้ว ไม่มีอะไรใหม่ๆให้น่าตื่นเต้นสักเท่าไรนัก Presentation หรือ Discussion หรือ Case Studies ของ Harvard อะไรทำนองนี้ ก็ทำกันมาอย่างโชกโชนแล้ว ดังนั้น ถ้าในชั้นเรียน MBA ไม่มีการสอน "ทฤษฎีการบริหารจัดการใหม่ๆ (ขอเน้น..) " หรือ "Case Studies อะไรที่ใหม่ๆ" ทันสมัยด้วยแล้ว จะเป็นอะไรที่ “สูญเปล่า” ทางการลงทุนของผู้เรียนเป็นอย่างยิ่ง
แล้วทีนี้ จะทำอย่างไร ทฤษฎีทางการบริหารจัดการ ส่วนใหญ่ก็มักจะตามโลกธุรกิจไม่ใคร่ทัน คือ “Case Study” จะเกิดขึ้นก่อน จนถึงระยะหนึ่งแล้ว “ทฤษฎีทางการบริหารจัดการในเรื่องนั้นๆ” จะเกิดขึ้นตามมา แล้วสุดท้ายถึงจะมาปรากฎอยู่ใน “ตำราเรียนเล่มหนาๆ” สรุปคือ “นักศึกษาต้องมานั่งเรียนตามหลังการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจกันอยู่เกือบตลอดเวลา” เรื่องนี้สามารถเห็นได้ชัดมาก ในเรื่องวิชา การจัดการเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) หรือ การจัดการการตลาด (Marketing Management) ที่หลาย “หัวข้อ” ยังไม่มีปรากฎในตำรา ผลคือ นักศึกษา MBA หลายๆ คนที่ทำงานอยู่ในระดับผู้บริหารระดับสูงขององค์กร หรือผู้จัดการฝ่ายการตลาด หรือผู้จัดการฝ่ายขาย ต่างบ่นว่า “เบื่อ” กันเป็นแถวสำหรับบางหัวข้อในตำรา เนื่องจากในชีวิตการทำงานจริงเขาไม่ได้ใช้เทคนิคการบริหารหรือเทคนิคการตลาดแบบนั้น คือเขาเลิกใช้กันไปนานแล้ว เขาใช้วิธีใหม่ๆ กันแล้ว แต่อาจารย์บางท่านก็ยังอุตส่าห์ตั้งหน้าตั้งตาสอนเทคนิคนั้นๆ กันอยู่อย่างเอาเป็นเอาตาย คิดแล้วก็น่าสงสารผู้เรียนจริงๆ ท่านว่า จริงไหมครับ และที่น่าเศร้าใจไปมากกว่านั้นก็คือ อาจารย์บางท่านก็ไม่เข้าใจในทฤษฎีนั้นๆ เพราะไม่เคยมีประสบการณ์จริงด้านการบริหารหรือการตลาดในภาคธุรกิจ แต่ก็ตั้งหน้าอธิบายกันแบบผิดบ้างถูกบ้าง โดยมีคะแนนในห้องเรียนเป็น “เดิมพัน” ผลก็คือ นักศึกษาที่รู้คำตอบที่แท้จริง ต้องยอมฝืนใจตอบข้อสอบไปแบบที่ตนเองก็คิดว่า “มันไม่น่าจะใช่” แต่ต้องให้ “ถูกใจ” อาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบบางท่านอะไรทำนองนั้น
เอาง่ายๆ อย่างเช่น เรื่อง Real Time Strategic Response หรือ Strategic Issue Management (SIM Model) ภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ในบ้านเรา เขาทำกันอย่างเต็มรูปแบบไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี ต่างประเทศไม่ต้องพูดถึงทำกันมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ผมว่า การเรียนใน Business School บ้านเรา นับแห่งได้ครับ ที่จะมีการสอน “หัวข้อ” แบบนี้ นี่เอาแค่ “หัวข้อใหม่ๆ” แค่หัวข้อเดียวนะครับ
ดังนั้น ผู้เรียน MBA ที่ไม่ได้จบสายตรงด้านบริหารธุรกิจ คงจะยังไม่มีอะไรที่ “น่าเบื่อ” เพราะเกือบทุกเรื่องดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับผู้เรียนที่จบสายตรงมา คือ ผมกำลังจะบอกว่า เนื้อหาต่างๆ ในหลักสูตร MBA นั้น ควรต้องมีการปรับปรุงให้มีความสด ใหม่ ทันสมัย อยู่เสมอ และตลอดเวลา เนื่องจากโลกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากกว่าที่คิด
นอกจากนี้ ตัวผู้สอนเอง นอกจากจะต้องมีประสบการณ์ในด้านการสอนแล้ว ก็ควรจะมีประสบการณ์จริงในภาคธุรกิจในหัวข้อหรือวิชาที่ตนเองสอนอยู่ ถ้าจะให้ดีก็ไม่ควรต่ำกว่าสิบปี อีกทั้งวุฒิการศึกษาก็ไม่ควรต่ำกว่าปริญญาเอกหรืออย่างน้อยไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ สิ่งเหล่านี้จำเป็นครับ อย่างน้อยก็พอให้ผู้เรียนได้ “อุ่นใจ” ได้บ้างว่า ผู้สอนพอจะมีความรู้ที่จะสอนในระดับปริญญาโทจริงๆ
ผมเองแสดงความคิดเห็นตรงนี้ ก็ขอออกตัวก่อนว่า ไม่ได้เก่งมาจากไหน แต่อาศัยว่า ได้มีโอกาสเป็นผู้สอนและคลุกคลีกับนักศึกษาปริญญาโทมาบ้าง ทั้ง MBA หรือ MS มาหลายสิบรุ่น หลายสถาบัน ไม่ต่ำกว่าสิบปี ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร หรือมหาวิทยาลัยเอกชนอื่นๆ อีกหลายแห่ง และเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดขององค์กรภาคเอกชนหรือระดับหน่วยงานมาหลายแห่งนับสิบปี ดังนั้น จึงได้มีโอกาสรับฟังข้อคิดเห็นมามากพอสมควร และที่ขอนำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้ ก็เผื่อว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ เพื่อที่จะช่วยกันทำให้นักธุรกิจ SME หรือนักธุรกิจรุ่นใหม่ๆ ในบ้านเรา จะได้ “ติดอาวุธทางปัญญา” ที่แหลมคม สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้จนเกิดความสำเร็จในตลาดธุรกิจระดับโลก ไม่แพ้ไม่น้อยหน้า จีน สิงค์โปร์ เวียตนาม หรือเขมร ที่กำลังเร่งพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในชาติตนเองอย่างขมีขมันอยู่ในเวลานี้....... ก็เท่านั้นเองครับ
03 สิงหาคม 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
1 ความคิดเห็น:
reดิฉันมีความสนใจด้านการจัดการเชิงกลยุทธ์ จึงอยากเรียนต่อ ป.เอก สาขานี้ แต่ไม่รู้มหาวิทยาลัยที่ไหนเปิดสอนบ้างค่ะ จึงขอคำแนะนำจาก ดร. ด้วยค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ
ติดต่อที่ gingle08@hotmail.com
แสดงความคิดเห็น