03 สิงหาคม 2551

Business Model..แบบพอเพียง

วันนี้ เพื่อนผมคนหนึ่ง ได้โทรมานัดทานอาหารเที่ยง ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือชื่อดัง ย่านเลียบทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ ซึ่งหลังจากสั่งอาหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คำถามแรกที่เขาถามผมคือ “ในสถานการณ์นี้ จะมีวิธีการหรือกลยุทธ์อะไร ที่ช่วยให้องค์กรที่เกิดใหม่อย่างเขา สามารถบริหารจัดการองค์กรในภาพรวม ให้มีความเสี่ยงต่อการขาดทุนน้อยที่สุด”

ผมคิดครู่หนึ่ง คำถามง่ายครับ แต่คำตอบไม่ง่ายเลย ต้องไล่เรียงทีละประเด็น ดังนี้
“เอาอย่างนี้แล้วกัน เริ่มจากบริษัทของนาย นายมี Know-how และลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องในตราสินค้าอยู่แล้วนะ

ขั้นแรก นายต้องค้นหา “โรงงานที่รับจ้างผลิตสินค้า” ประเภทเดียวกับนาย เลือกเอาโรงงานที่มีระบบการบริหารจัดการและตรวจสอบที่ดี มีเครื่องจักรอุปกรณ์ที่พร้อม มีแรงงานที่มีศักยภาพ และที่สำคัญ ยังมีกำลังการผลิตที่ว่างเหลืออยู่ แล้วติดต่อขอจ้างเขาผลิตสินค้าให้นาย ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้นายสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่อง ที่ดิน การก่อสร้างโรงงาน การพัฒนางานระบบ การซื้อและการบำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์ ตลอดจนการจ้างแรงงานประเภทต่างๆ ทั้งโรงงาน ทั้งหมด และเมื่อตกลงกันได้แล้ว ให้จัดทำ สัญญาการจ้างผลิต (Manufacturing Contract) และ สัญญาการไม่เปิดเผยความลับทางการค้า (Confidentiality Agreement/Non-Disclosure Agreement)

ขั้นที่สอง มองหา “บริษัทรับจ้างจัดจำหน่าย” ที่มีศักยภาพ มีเครือข่ายการจัดจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนพนักงานขายมาก มีรถยนต์พร้อม มีจำนวนคลังสินค้า มีระบบซอฟท์แวร์ช่วยเหลือการปฏิบัตงาน มีระบบการตรวจสอบสต๊อกสินค้าที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ เมื่อเลือกได้และตกลงเงื่อนไขทางการค้าต่างๆ กันเป็นที่น่าพอใจแล้ว ให้จัดทำ สัญญาการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่าย (Distributorship Contract) ซึ่งในรายละเอียดสัญญา ก็ระบุไปเลยว่า จะให้เน้นช่องทางการจัดจำหน่ายแบบ เอเย่นต์-ซับเอเย่นต์-ร้านค้าปลีกรายย่อย หรือช่องการจัดจำหน่ายแบบ Modern Trade เช่น ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เกต ดิสเคาน์สโตร์ ร้านค้าสะดวกซื้อประเภทต่างๆ หรือจะเน้นทั้งสองแบบในอัตราส่วนเท่าไรก็ว่ากันไป และอย่าลืมตกลงกันในเรื่อง การรับคืนหรือการรับเปลี่ยน สินค้าที่ขายไม่หมดหรือหมดอายุ ด้วยว่าจะเอากันอย่างไร

ขั้นที่สาม เลือกเฟ้นหา “บริษัทรับจ้างบริหารงานประเภท Back Office” ซึ่งหมายความว่า บริษัทเหล่านี้ จะรับจ้างจัดการประเภท งานด้านบัญชีทั้งหมด งานด้านการเงินทั้งหมด งานด้านบุคคลทั้งหมด งานด้านไอทีทั้งหมด งานด้านคลังสินค้าทั้งหมด งานด้านกฎหมายนิติกรรมสัญญาทั้งหมด การเลือกบริษัทตรงนี้ ให้พิจารณาจาก บุคลากรของเขาว่ามีเพียงพอหรือไม่ งานที่ผ่านมามีคุณภาพหรือไม่ เมื่อเลือกได้แล้ว ให้จัดทำ สัญญาจ้างการบริหารงานประเภท Back Office และ สัญญาการไม่เปิดเผยความลับทางการค้า (Confidentiality Agreement)”

เพื่อนผมนั่งฟังอย่างตั้งใจ ไม่สนใจอาหารบนโต๊ะเลย ผมเลยเล่าต่อ
“ที่นี้ นายก็ได้มาครบหมดแล้ว งานผลิต งานขาย และงาน Back Office คงสงสัยใช่ใหมว่า จะมีงานอะไรเหลือให้นายทำ คำตอบคือ มีซิ งานการตลาด (Marketing) และ งานจัดซื้อ (Purchasing) ไง ตรงนี้นายต้องทำเอง แต่งานการตลาดนั้นจะทำเองหรือจะตัดสินใจร่วมกับ Agency อันนี้แล้วแต่นาย

ข้อดีของ “กลยุทธ์การจัดการ” แบบนี้ คือ ลงทุนน้อย เพราะบริษัทจ้างคนไม่กี่คน มีเอ็มดี 1 มีผู้จัดการฝ่ายการตลาด 1 มีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ 1 และมีAdmin 1 รวมแล้ว 4 คน ทุนจดทะเบียนช่วงเปิดบริษัทใหม่ 1 ล้านบาท ไม่ควรเกินนี้ และถ้าขอกู้อีกไม่เกิน 1 ล้านบาท เมื่อธุรกิจไปได้ดี อยากจะขยายกิจการ ค่อยเพิ่มทุนจดทะเบียนภายหลัง แต่ถ้าธุรกิจไปไม่รอด นายเจ็บตัวเพียงแค่ตัวเลขจำนวนนี้ แต่ถ้าค้าขายประสบความสำเร็จ ไปได้รวยกว่านี้มาก อย่างนี้เรียกว่า ลงทุนแต่น้อย ถ้าพลาดก็ขาดทุนต่ำ แต่ถ้าสำเร็จก็มีโอกาสรวยได้ เป็นไง เห็นภาพไหม” เพื่อนผมพยักหน้า แล้วบอกว่า “แบบนี้น่าสนใจมาก ถ้าไม่ได้คุยกันก่อน มีหวังคงจะต้องลงทุนแบบครบวงจรแน่ งานนี้ถ้าขาดทุน คงเจ็บหนักแน่” แล้วเขาก็บอกผมว่า จะต้องรีบกลับไปปรับแผนโครงการลงทุนในธุรกิจใหม่ของเขาวันนี้เลย

1 ความคิดเห็น:

rosedonnok กล่าวว่า...

ขอบคุณมากคะ สำหรับบทความดีดีติดตามอ่านคะมีประโยชน์มากๆคะ