01 ธันวาคม 2551

ทำบุญ....อย่างมีกลยุทธ์

นั่งเขียนบทความเล่นๆ ตอนนี้เผลอแป๊บเดียว ปาเข้าไป 30 เรื่องแล้ว ดีใจครับที่มีคนอ่าน มีคนติดตาม มีคนเขียนมาถาม มาคุย มาทักทายกันทางอีเมล์ และมีคนโพสต์กระทู้มาบ้าง วันนี้เป็นวันแรกของเดือนสุดท้ายแห่งปีนี้ ผมจึงอยากจะเขียนอะไรที่เบาๆ บ้าง หรือที่พอจะผ่อนคลายท่านผู้อ่านได้บ้าง ผมเชื่อว่า หลายท่านคงจะเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานหนักกันมาทั้งปีแล้ว เดือนสุดท้ายแห่งปี จึงน่าจะเป็นเดือนแห่งการทบทวนอะไรบางอย่างให้แก่ชีวิตที่ผ่านมา และเตรียมพร้อมกับการเข้าสู่สิ่งใหม่ๆที่ดีกว่าในปีหน้า ใช่ใหมครับ...
ชีวิตการทำงานของผม ก็คงไม่แตกต่างจากทุกท่าน ที่ทุกๆ นาที ทุกๆ ชั่วโมง เป็นสิ่งที่มีค่า เนื่องจากภาระงานมีจำนวนมากและมีความหลากหลายสูง ต้องแข่งกับเวลา ดังนั้น “เวลาที่จะทำบุญ” จึงมีน้อยมาก
ผมเลยมานั่งคิดว่า ผมจะบริหารเวลาที่มีจำกัดได้อย่างไร เพื่อให้การทำบุญของผมนั้น มีประสิทธิภาพสูงสุด พูดง่ายๆ ว่า “จะทำบุญอย่างไรดี จึงจะได้บุญมากที่สุด” ซึ่งผมมีความเชื่อหลายประการ ดังนี้ครับ
ผมเชื่อว่า คำว่า “บุญ” เกิดจาก การทำสิ่งดีๆ 3 ประการ คือ การทำทาน การถือศีล และการเจริญวิปัสนากรรมฐาน ซึ่ง “ต้องทำให้ครบ” และให้ได้จำนวนและคุณภาพมากที่สุดในแต่ละเดือนอย่างต่อเนื่อง จึงจะบังเกิดผลจริงๆ
ผมเชื่อว่า “ทำทาน 100 ครั้ง” อานิสงส์ไม่เท่ากับ “ถือศีล 1 ครั้ง” และ “ถือศีล 100 ครั้ง” อานิสงส์ไม่เท่ากับ “เจริญวิปัสนากรรมฐาน 1 ครั้ง”
ผมเชื่อว่า “มุ่งทำทานอย่างเดียว” จะรวยแต่ไม่ฉลาด “มุ่งเจริญวิปัสนากรรมฐานอย่างเดียว” จะฉลาดแต่ไม่รวย
ผมเชื่อว่า ในการทำทานนั้น “ธรรมทาน” (เช่น สร้างหนังสือธรรมะ) ให้อานิสงส์มากกว่า “วิหารทาน” (เช่น สร้างโบสถ์ ฉัตร เจดีย์ วัด ประตู ศาลาการเปรียญ เป็นต้น) และ “วิหารทาน” ให้ผลมากกว่า “สังฆทาน” แต่ที่อานิสงส์สูงสุดกว่าสิ่งใดคือ “อภัยทาน” ส่วนผมเองนั้น มุ่งเน้น “วิหารทาน” เป็นหลัก
ผมเชื่อว่า “การทำทานจะได้ผลมากหรือน้อย” ยังขึ้นอยู่กับคุณภาพของ “เนื้อนาบุญ” ที่เราไปทำบุญด้วยครับ ถ้าโชคดีได้มีโอกาสทำบุญกับ “พระอริยะ” (เช่น พระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกิทาคามี หรือพระโสดาบัน) จะมีอานิสงส์สูงกว่าการทำบุญกับ “สมมุติสงฆ์” หรือ “เณร” หรือ “แม่ชี” หรือ “บุคคลทั่วไป” หรือ “สัตว์เดรัจฉานต่างๆ” ดังนั้น ผมจะให้ความสำคัญในเรื่อง “เนื้อนาบุญ” มากครับ
ผมเชื่อว่า ในการถือศีลนั้น สำหรับฆราวาสอย่างเรา “การถือศีล 8 เพียง1 ครั้ง” ให้อานิสงส์สูงกว่า “การถือศีล 5 เท่ากับ 100 ครั้ง” สำหรับผม ผมเลือกถือศีล 5 ในวันธรรมดา และถือศีล 8 ในวันพระ
ผมเชื่อว่า ในการเจริญ “วิปัสนากรรมฐาน” นั้น จะมีอานิสงส์มากกว่า การเจริญ “สมถกรรมฐาน” แต่ผมก็เลือกปฎิบัติทั้งสองอย่างนี้ควบคู่กันทุกวันๆ ละ 2 ครั้ง หลังตื่นนอนตอนเช้าและก่อนเข้านอนตอนกลางคืน ครั้งละประมาณ 1-2 ชั่วโมง และผมยังเชื่ออีกว่า “สมถกรรมฐาน” เป็นพื้นฐานที่ดีของ “วิปัสนากรรมฐาน”
ผมเชื่อว่า “การเจริญสมถกรรมฐานที่ดี” ต้องมีความเข้าใจเรื่อง “ฌาณสมาบัติ” ต้องรู้จัก ฌาณที่หนึ่ง (ปฐมฌาณ) ฌาณที่สอง (ทุติยฌาณ) ฌาณที่สาม (ตติยฌาณ) และฌาณที่สี่ (จตุตฌาณ) ที่รวมเรียกว่า “รูปฌาณ 4” ซึ่งไม่เหมือนกับ “อรูปฌาณ 4” ได้แก่ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ แต่สำหรับผม ผมมุ่งฝึกฝนแต่ “รูปฌาณ 4” เท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ผู้ปฎิบัติทุกคนต้องแยกให้ได้ในเรื่อง วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข และเอกัตตคารมณ์
ผมเชื่อว่า ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่อง “ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปนาสมาธิ” เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้ได้ก่อนการเข้าสู่ขั้น “ปฐมฌาณ” และผมเชื่ออีกว่า “อานาปานุสสติกรรมฐาน” ( 1 ใน กรรมฐาน 40 กอง) ถือเป็น “กุญแจดอกสำคัญแห่งความสำเร็จ” ในการฝึกกรรมฐานทุกระดับชั้น แต่สำหรับผม ผมยังคงพยายามฝึกฝนเพิ่มเติมอีก 3 กอง คือ มรณานุสติกรรมฐาน อสุภะกรรมฐาน และกายคตานุสติกรรมฐาน โดยทำแบบควบคู่กันไปเลย
ผมเชื่อว่า การปฎิบัติกรรมฐาน 40 กอง นั้น แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ สุขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ และปฎิสัมภิทัปตโต ดังนั้น เรื่อง “วิชชา 3” หรือ “มโนมยิทธิ” หรือ “อภิญญา” เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส แต่เรื่องนี้ ถือเป็นประสบการณ์ “เฉพาะบุคคล” เท่านั้นครับ
ผมเชื่อว่า “การเจริญวิปัสนากรรมฐานที่ดี” ต้องหมั่นพิจารณาเรื่อง “กฏไตรลักษณ์” (อนิจจัง ทุกขัง อนันตา) และ “อริยสัจ 4” (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) เพื่อ “ลด ละ เลิก” ใน “กิเลสต่างๆ” (โลภ โกรธ หลง) ให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ การฝึกตามแนว “มหาสติปัฎฐานสี่” ก็ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยทำให้หลุดพ้นจากกิเลสได้ชงัดนัก
ผมเชื่อว่า “การถือศีล” เป็นพื้นฐานแห่งความสำเร็จในการเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสนากรรมฐาน และผมยังเชื่ออีกว่า “สวดมนต์ เป็น ยาทา แต่ กรรมฐาน เป็น ยากิน”
ผมเชื่อว่า “การตัด..สังโยชน์ 3 ข้อแรก” (ได้แก่ สักกายทิฎฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส) “การตัด..นิวรณ์ 5 ข้อ” (ได้แก่ กามราคะ พยาปาทะ ถีนมิทนะ อุทธัจจะ และวิจิกิจฉา) “การทรงอารมณ์..พรหมวิหาร 4” (ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา) เป็น “Key Success Factor” สำหรับผู้ที่กำลังเริ่มฝึกกรรมฐานเบื้องต้น
และสุดท้าย... ผมเชื่อว่า การสะสม “อริยทรัพย์” โดยการทำบุญให้ครบถ้วนอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ทาน ศีล และภาวนา นั้น มีค่าสูงสุดกว่า “ทรัพย์สินใดๆ ทั้งหมด” เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ผมจะนำติดตัวไปได้ และผมยังเชื่ออีกว่า “การทำบุญเพื่อลบล้างบาปเก่านั้น ทำไม่ได้ แต่การทำบุญหนีบาปเก่านั้น ทำได้”
ทั้งหมดนี้ เป็นความเชื่อส่วนตัวของผมนะครับ..ไม่เกี่ยวกับใคร/ ดร. ครรชิต สิงห์สุวรรณ์

19 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อาจารย์แนะนำให้มาอ่านเมื่อวานนี้เองครับ
เรื่อง BSC เข้ามาครั้งแรกปรากฎว่า
มีสิ่งที่มากเกินกว่าที่คาดหวังไว้
ชอบมากครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

โมทนาด้วยค่ะ
เชื่อว่า...อริยทรัพย์ทั้งหลายที่ ดร.ครรชิต สั่งสมมาจะเป็นหนทางไปสู่พระนิพพาน สาธุ

kku_bangkok กล่าวว่า...

อาจารย์มีความสนใจในการปฏิบัติธรรมมาก ดูได้จากการศึกษาด้านปริยัติที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมโดยตรง และมีจุดสำคัญหลาย ๆ อย่างที่เห็นถึงการขมวดข้อธรรมที่สำคัญ ๆ มารวบรวมไว้เป็นขั้นๆ ตั้งแต่ต้นจบจบ ถือเป็นใบไม้กำมือเดียวจริง ๆ ครบคลุมโดยลัดสั้น ตรงประเด็น เป็น key ที่สำคัญ ทางการปฏิบัติ
ขอให้อาจารย์มีความเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปจนถึงที่สุด และคิดว่าอาจารย์คงได้เปิดประตูอะไรบางอย่างไปแล้ว เพียงแต่ว่าจะไปถึงตรงนั้นเร็วหรือช้าเท่านั้น อาชีพปัจจุบันของอาจารย์เป็นอาชีพรอง แต่อาชีพที่เป็นนักปฏิบัตินั้น เป็นอาชีพจริงของอาจารย์ เพราะธรรมเป็นของจริง และปัญญาธรรมเป็นสิ่งที่ต่อเนื่อง ไปได้ทุกชาติ ส่วนปัญญาโลก ก็ คือสัญญา ดีๆ นี่เอง ดีใจครับที่ได้เป็น Advisee ของอาจารย์ในเทอมนี้ ถือว่าได้เจอกัลยาณมิตรอีกท่านหนึ่ง ....อเสวนาจะ พาลานนัง บัณฑิตานัญจ เสวนา
/kku_bangkok young 5

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เรียนท่านอาจารย์่ที่เคารพค่ะ เป็นวิชาแรกที่นู๋ได้เรียนวิชา Strategy Management ซึ่งตอนแรกคิดว่าเป็นวิชาที่ยากส์ พอมีโอกาศเป็นศิษย์ของอาจารย์แล้ว อาจารย์เป็นครูที่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้อย่างเป็นอย่างดี เมื่อได้เข้ามาอ่านบทความเกี่ยวกับการทำบุญ อย่างมีกลยุทธ์แล้วทำให้อดนึกถึงตอนนู๋ได้มีโอกาศจัดพิมพ์หนังสือ วิธีการสร้างบารมี แจกจ่ายให้ทันวันเข้าพรรษาปีที่่ผ่านมานี้ค่ะ ตั้งใจว่าหากโอกาศอำนวยหลังเรียนจบปริญญาโทแล้ว ก็ขออธิษฐานให้ชีวิตที่เหลือยู่มีโอกาศได้สะสมบุญ ขอบพระคุณท่านอาจารย์ค่ะ หวังว่านู๋จะได้อ่านบทความเกี่ยวกับการทำบุญของอาจารย์อีกน่ะค่ะ

จ๊ะจ๋า กล่าวว่า...

อนุโมทนาค่ะ อ่านแล้วเข้าใจประเด็นทั้ง bsc และ ธรรมะ ที่อาจารย์ให้ค่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ปีใหม่..ถือเป็นเทศกาลแห่งการทำบุญ จะทำบุญทั้งทีก็ขอเลือกที่จะทำบุญ...อย่างมีกลยุทธ์ด้วยคนนะคะ

ไม่มีกุศลใดยิ่งใหญ่เท่าการให้ทานที่เป็นความรู้..ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ (am.)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ทำบุญ อย่างมีกลยุทธ์ เป็นบทความที่ยอดเยี่ยมมากเลย ไม่เคยได้อ่านบทความทีสรุปได้ชัดเจนอย่างนี้มาก่อน แล้วฌาณทั้ง 4 มีความรู้สึกเป็นอย่างไรครับ
ช่วยกรุณาอธิบายให้ฟังหน่อยซิครับ
ขออนุโมทนาบุญครับ




aod_gsb@hotmail.com

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมศรัทธาและชื่มชมในอาจารย์มากครับ
อาจารย์เป็นแหล่งขุมทรัพย์ทางปัญญาที่แสวงหาได้แบบไม่มีเต็ม และไม่มีอิ่มครับ

จาก ศิษย์ HRM6 ม.บูรพา

Unknown กล่าวว่า...

ก็ผ่านไปแล้วครึ่งปีนะ แต่ก็ยังรอบทความใหม่ๆ ของอาจารย์นะครับ
อ่านแล้วได้ประโยชน์ สามารถเอามาปรับใช้ในการทำงานได้มากเลยครับ...
ลูกศิกษ์ Ex-7 MBA KKU.

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สวัสดีค่ะแวะมาลับสมองกับบทความดี ๆ
ของ ดร.ครรชิต สิงห์สุวรรณ์
เผลอแป๊บเดียวบล็อคนี้จะมีอายุครบ 1 ปีแล้วนะคะ
มีสมาชิกเข้ามาอ่านบทความมากกว่า 2,000 พันคน แล้วค่ะ..

เป็นที่น่าสังเกตุว่า...พออ่านจบรู้สึกว่าสมองมีรอยหยักเพิ่มขึ้นมาหน่อย

นิพพานัง ปรมัง สุขัง....สาธุ (am.)

Thitipat กล่าวว่า...

ผมกลับมองว่า สิ่งแรกที่เราได้จาการทำบุญ หากมองในหลักการต่างๆ เป็นเหมือน model เริ่มต้นของระบบการจัดการบุญ จากแนวคิดบทความของอาจารย์ เหมือนสิ่งที่นักคิดชาวตะวันตก หลายๆท่าน เคยกล่าวว่า พระพุทธศาสนา เป็นวิทยาศาสตร์ มากกว่าความเชื่อ สำหรับผมเองในฐานะที่ได้ทดลองปฏิบัติธรรม และบวชเรียนมาแล้ว ผมเชื่อเรื่องการ "ปฏิบัติ" มากกว่า การ "สะสม" แต่ในกุศโลบาย ที่พระพุทธองค์ กำหนดให้พุทธศาสนิกชนน้อมนำมาปฏิบัตินั้น นับเป็นกุศโลบาย ในการจรรโลงพระศาสนา อย่างเป็นระบบครับ

ขอบพระคุณครับที่อาจารย์ ได้ทำให้ "ลูกศิษย์" ของอาจารย์ ได้เรียนรู้ชีวิตะ ในอีกด้านครับ

ewa กล่าวว่า...

สวัสดีค่ะ แวะมาทักทายอาจารย์ที่บล็อก
เป็นนักศึกษาของที่อาจารย์สอนอยุ่ค่ะ
มาอ่านบทความของอาจารย์ค่ะ พรุ่งนี้ก็สอบแล้วค่ะ อาจารย์ออกยากไหมค่ะ ...

ewa กล่าวว่า...

ขอติดตามบล็อกของอาจารย์นะค่ะ เพิ่งเริ่มทำบล็อกที่นี้ ปกติทำไว้ที่ exteen ค่ะ เปลี่ยนใจมาใช้ blogspot แล้วค่ะ

Unknown กล่าวว่า...

สวัสดี ดร.ครรชิต สิงห์สุวรรณ์
พอดีอาจารย์ให้เขียนเรื่อง จัดการเชิงกลยุทธ์ ที่สามารถนำใช้ประโยชน์ในการพัฒนาองค์กรวัดทางพระพุทธศาสนาได้อย่างไร ให้ออกแบบการจักการเชิงกลยุทธ์ขององค์กรวัดทางพระพุทธศาสนา

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อาจารย์เขียนได้ดีมากครับ อ่านเข้าใจง่าย กระชับ และผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ที่คนเราไม่สามารถทำบุญไถ่บาปได้ เพราะเป็นกรรม หรือการกระทำสำเร็จแล้ว บทความอาจารย์ ผมชอบมากครับ.

Moridaiya กล่าวว่า...

สาธุ....ใช่ค่ะ มิเช่นนั้น คงไม่มีคำว่า ทางสายกลาง ในพระพุทธศาสนา ซึ่งการจะทำอะไร ก็ให้ทำแต่พอดี ๆ ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป การสะสมบารมี ก็เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องทำทานบารมีเพียงอย่างเดียว หากได้อ่านทศชาติของพระพุทธองค์แล้ว จะพบว่า ในแต่ละชาติของพระองค์ เหมือนกับการบำเพ็ญบารมีที่ตึงเกินไปเพียงอย่างเดียว ท่านจึงต้องสะสมหลายชาติ กว่าจะครบเพื่อจุติเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประวัติศาสตร์และอดีตเป็นตัวอย่าง บางเรื่องนำมาเป็นเยี่ยง แต่ไม่ให้เอาอย่าง แต่บางที ประวัติศาสตร์ก็มีการซ้ำรอยได้ เหมือนการวนกลับมาของห้วงเวลา หรือรอยพับแห่งเวลา ขออนุโมทนาให้อาจารย์ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น ๆ จากบรรดาบารมีที่ได้สะสมมาและจะบังเกิดในภายภาคหน้าค่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สวัสดีค่ะอาจารย์
เป็นลูกศิษย์อาจารย์YMBA-RUที่จะสอบcompreเสาร์นี้ค่ะ
สารภาพตามตรงว่าเพิ่งเข้าบล็อกอาจารย์ครั้งแรก
พอดีหนูจะมาหาข้อมูลเรื่องTOWSเพิ่มเติมค่ะ
ตอนเรียนไม่ได้เคยเข้ามาค้นข้อมูลเลย อาจารย์อย่าว่ากันเลยนะคะ
เข้ามาครั้งแรกโดนอย่างแรกกับเรื่องทำบุญอย่างมีกลยุทธ์
เพิ่งทราบว่าอาจารย์สนใจด้านนี้เหมือนกัน
แต่สำหรับหนูยังแบบห่างไกลอาจารย์เยอะค่ะ
ไว้สอบเสร็จจะมารบกวนเวลาอาจารย์มาสนทนาเรื่องนี้ดีกว่านะคะ
ด้วยความเคารพค่ะ

sirikhan poolsawat กล่าวว่า...

ขออนุโมทนาบุญกับบทความธรรมะดีๆนี้ด้วยนะค่ะ
ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่สนใจการศึกษาข้ั้นสูงสุดทางโลกคือปริญญาเอก
และขณะเดียวกัน ก็สนใจศึกษาธรรมะเพื่อให้หลุดพ้น สู่วิมุติเช่นกันค่ะ ยินดีที่ได้รู้จักนะค่ะ ดร.ครรชิต

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

นี่คือประกาศสาธารณะสำหรับทุกคนที่ต้องการขายไตเรามีผู้ป่วยที่ต้องการการปลูกถ่ายไตดังนั้นหากคุณสนใจที่จะขายไตโปรดติดต่อเราทางอีเมลของเราที่ iowalutheranhospital@gmail.com
นอกจากนี้คุณยังสามารถโทรหรือเขียนถึงเราได้ที่ whatsapp ที่ +1 515 882 1607

หมายเหตุ: รับประกันความปลอดภัยของคุณและผู้ป่วยของเราได้ตกลงที่จะจ่ายเงินจำนวนมากให้กับทุกคนที่ตกลงที่จะบริจาคไตเพื่อช่วยพวกเขา เราหวังว่าจะได้ยินจากคุณเพื่อให้คุณสามารถช่วยชีวิต