01 ธันวาคม 2551

ทำบุญ....อย่างมีกลยุทธ์

นั่งเขียนบทความเล่นๆ ตอนนี้เผลอแป๊บเดียว ปาเข้าไป 30 เรื่องแล้ว ดีใจครับที่มีคนอ่าน มีคนติดตาม มีคนเขียนมาถาม มาคุย มาทักทายกันทางอีเมล์ และมีคนโพสต์กระทู้มาบ้าง วันนี้เป็นวันแรกของเดือนสุดท้ายแห่งปีนี้ ผมจึงอยากจะเขียนอะไรที่เบาๆ บ้าง หรือที่พอจะผ่อนคลายท่านผู้อ่านได้บ้าง ผมเชื่อว่า หลายท่านคงจะเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานหนักกันมาทั้งปีแล้ว เดือนสุดท้ายแห่งปี จึงน่าจะเป็นเดือนแห่งการทบทวนอะไรบางอย่างให้แก่ชีวิตที่ผ่านมา และเตรียมพร้อมกับการเข้าสู่สิ่งใหม่ๆที่ดีกว่าในปีหน้า ใช่ใหมครับ...
ชีวิตการทำงานของผม ก็คงไม่แตกต่างจากทุกท่าน ที่ทุกๆ นาที ทุกๆ ชั่วโมง เป็นสิ่งที่มีค่า เนื่องจากภาระงานมีจำนวนมากและมีความหลากหลายสูง ต้องแข่งกับเวลา ดังนั้น “เวลาที่จะทำบุญ” จึงมีน้อยมาก
ผมเลยมานั่งคิดว่า ผมจะบริหารเวลาที่มีจำกัดได้อย่างไร เพื่อให้การทำบุญของผมนั้น มีประสิทธิภาพสูงสุด พูดง่ายๆ ว่า “จะทำบุญอย่างไรดี จึงจะได้บุญมากที่สุด” ซึ่งผมมีความเชื่อหลายประการ ดังนี้ครับ
ผมเชื่อว่า คำว่า “บุญ” เกิดจาก การทำสิ่งดีๆ 3 ประการ คือ การทำทาน การถือศีล และการเจริญวิปัสนากรรมฐาน ซึ่ง “ต้องทำให้ครบ” และให้ได้จำนวนและคุณภาพมากที่สุดในแต่ละเดือนอย่างต่อเนื่อง จึงจะบังเกิดผลจริงๆ
ผมเชื่อว่า “ทำทาน 100 ครั้ง” อานิสงส์ไม่เท่ากับ “ถือศีล 1 ครั้ง” และ “ถือศีล 100 ครั้ง” อานิสงส์ไม่เท่ากับ “เจริญวิปัสนากรรมฐาน 1 ครั้ง”
ผมเชื่อว่า “มุ่งทำทานอย่างเดียว” จะรวยแต่ไม่ฉลาด “มุ่งเจริญวิปัสนากรรมฐานอย่างเดียว” จะฉลาดแต่ไม่รวย
ผมเชื่อว่า ในการทำทานนั้น “ธรรมทาน” (เช่น สร้างหนังสือธรรมะ) ให้อานิสงส์มากกว่า “วิหารทาน” (เช่น สร้างโบสถ์ ฉัตร เจดีย์ วัด ประตู ศาลาการเปรียญ เป็นต้น) และ “วิหารทาน” ให้ผลมากกว่า “สังฆทาน” แต่ที่อานิสงส์สูงสุดกว่าสิ่งใดคือ “อภัยทาน” ส่วนผมเองนั้น มุ่งเน้น “วิหารทาน” เป็นหลัก
ผมเชื่อว่า “การทำทานจะได้ผลมากหรือน้อย” ยังขึ้นอยู่กับคุณภาพของ “เนื้อนาบุญ” ที่เราไปทำบุญด้วยครับ ถ้าโชคดีได้มีโอกาสทำบุญกับ “พระอริยะ” (เช่น พระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกิทาคามี หรือพระโสดาบัน) จะมีอานิสงส์สูงกว่าการทำบุญกับ “สมมุติสงฆ์” หรือ “เณร” หรือ “แม่ชี” หรือ “บุคคลทั่วไป” หรือ “สัตว์เดรัจฉานต่างๆ” ดังนั้น ผมจะให้ความสำคัญในเรื่อง “เนื้อนาบุญ” มากครับ
ผมเชื่อว่า ในการถือศีลนั้น สำหรับฆราวาสอย่างเรา “การถือศีล 8 เพียง1 ครั้ง” ให้อานิสงส์สูงกว่า “การถือศีล 5 เท่ากับ 100 ครั้ง” สำหรับผม ผมเลือกถือศีล 5 ในวันธรรมดา และถือศีล 8 ในวันพระ
ผมเชื่อว่า ในการเจริญ “วิปัสนากรรมฐาน” นั้น จะมีอานิสงส์มากกว่า การเจริญ “สมถกรรมฐาน” แต่ผมก็เลือกปฎิบัติทั้งสองอย่างนี้ควบคู่กันทุกวันๆ ละ 2 ครั้ง หลังตื่นนอนตอนเช้าและก่อนเข้านอนตอนกลางคืน ครั้งละประมาณ 1-2 ชั่วโมง และผมยังเชื่ออีกว่า “สมถกรรมฐาน” เป็นพื้นฐานที่ดีของ “วิปัสนากรรมฐาน”
ผมเชื่อว่า “การเจริญสมถกรรมฐานที่ดี” ต้องมีความเข้าใจเรื่อง “ฌาณสมาบัติ” ต้องรู้จัก ฌาณที่หนึ่ง (ปฐมฌาณ) ฌาณที่สอง (ทุติยฌาณ) ฌาณที่สาม (ตติยฌาณ) และฌาณที่สี่ (จตุตฌาณ) ที่รวมเรียกว่า “รูปฌาณ 4” ซึ่งไม่เหมือนกับ “อรูปฌาณ 4” ได้แก่ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ แต่สำหรับผม ผมมุ่งฝึกฝนแต่ “รูปฌาณ 4” เท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ผู้ปฎิบัติทุกคนต้องแยกให้ได้ในเรื่อง วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข และเอกัตตคารมณ์
ผมเชื่อว่า ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่อง “ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปนาสมาธิ” เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้ได้ก่อนการเข้าสู่ขั้น “ปฐมฌาณ” และผมเชื่ออีกว่า “อานาปานุสสติกรรมฐาน” ( 1 ใน กรรมฐาน 40 กอง) ถือเป็น “กุญแจดอกสำคัญแห่งความสำเร็จ” ในการฝึกกรรมฐานทุกระดับชั้น แต่สำหรับผม ผมยังคงพยายามฝึกฝนเพิ่มเติมอีก 3 กอง คือ มรณานุสติกรรมฐาน อสุภะกรรมฐาน และกายคตานุสติกรรมฐาน โดยทำแบบควบคู่กันไปเลย
ผมเชื่อว่า การปฎิบัติกรรมฐาน 40 กอง นั้น แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ สุขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ และปฎิสัมภิทัปตโต ดังนั้น เรื่อง “วิชชา 3” หรือ “มโนมยิทธิ” หรือ “อภิญญา” เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส แต่เรื่องนี้ ถือเป็นประสบการณ์ “เฉพาะบุคคล” เท่านั้นครับ
ผมเชื่อว่า “การเจริญวิปัสนากรรมฐานที่ดี” ต้องหมั่นพิจารณาเรื่อง “กฏไตรลักษณ์” (อนิจจัง ทุกขัง อนันตา) และ “อริยสัจ 4” (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) เพื่อ “ลด ละ เลิก” ใน “กิเลสต่างๆ” (โลภ โกรธ หลง) ให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ การฝึกตามแนว “มหาสติปัฎฐานสี่” ก็ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยทำให้หลุดพ้นจากกิเลสได้ชงัดนัก
ผมเชื่อว่า “การถือศีล” เป็นพื้นฐานแห่งความสำเร็จในการเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสนากรรมฐาน และผมยังเชื่ออีกว่า “สวดมนต์ เป็น ยาทา แต่ กรรมฐาน เป็น ยากิน”
ผมเชื่อว่า “การตัด..สังโยชน์ 3 ข้อแรก” (ได้แก่ สักกายทิฎฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส) “การตัด..นิวรณ์ 5 ข้อ” (ได้แก่ กามราคะ พยาปาทะ ถีนมิทนะ อุทธัจจะ และวิจิกิจฉา) “การทรงอารมณ์..พรหมวิหาร 4” (ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา) เป็น “Key Success Factor” สำหรับผู้ที่กำลังเริ่มฝึกกรรมฐานเบื้องต้น
และสุดท้าย... ผมเชื่อว่า การสะสม “อริยทรัพย์” โดยการทำบุญให้ครบถ้วนอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ทาน ศีล และภาวนา นั้น มีค่าสูงสุดกว่า “ทรัพย์สินใดๆ ทั้งหมด” เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ผมจะนำติดตัวไปได้ และผมยังเชื่ออีกว่า “การทำบุญเพื่อลบล้างบาปเก่านั้น ทำไม่ได้ แต่การทำบุญหนีบาปเก่านั้น ทำได้”
ทั้งหมดนี้ เป็นความเชื่อส่วนตัวของผมนะครับ..ไม่เกี่ยวกับใคร/ ดร. ครรชิต สิงห์สุวรรณ์